วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

นากะ (Naga) กลุ่มชาติพันธุ์ในอินเดียแห่งดินแดนนากะแลนด์



...    แม้จะบอกไปว่านากะแลนด์เป็นดินแดนแห่งความไม่มี ไม่มีปราสาท ราชวังใดๆ 
เทือกเขารึก็ไม่ตระหง่านตาอย่างดินแดนที่อยู่บนเทือกเขาหิมาลัย
แต่ยอดเขาที่สูงที่สุดในนากะแลนด์คือยอด Saramati สูง ๓,๘๔๑ เมตร ถึงจะท้าทายขาลุย แต่ในแง่ความ(ไม่)ปลอดภัย จึงไม่มีใครนิยมปีน

  “นากาเป็นภาษาพม่า แปลว่า คนที่เจาะรูหู” อากุมตอบพลางชี้ไปที่ใบหูของตัวเอง และบอกว่าชาวนากาในอดีตนิยมเจาะรูหู สวมต่างหูกันทุกคน คำว่า “นากา” (naga) นี้มีคนให้นิยามไว้ต่างๆ กันไป บ้างก็ว่ามาจากภาษาสันสกฤต naga(นาค) บ้างก็ว่ามาจากภาษาฮินดี nanga(เปลือย)ฯลฯ ขณะที่ชาวนากาอย่าง "อากุม" และอีกหลายคนที่ผมได้พบเชื่อว่าเป็นคำที่ชาวพม่าใช้เรียกชนผิวเหลืองกลุ่มหนึ่งที่นิยมสวมต่างหูและอพยพหนีความแห้งแล้งหนาวเย็นจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนลงมาอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของพม่าตามลุ่มน้ำอิรวดี และต่อมาได้อพยพมาอยู่แถบเทือกเขาบริเวณชายแดนอินเดีย-พม่าจนถึงปัจจุบัน ขณะที่มีบางส่วนอพยพลงไปถึงคาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซีย เชื่อกันว่าคนกลุ่มนี้คือบรรพบุรุษของชาวนากา นากาเป็นเผ่านักรบ มีชื่อเสียงไม่ต่างจากนักรบของอินเดียนแดง นากาไม่ยอมให้ชนเผ่าใดบุกรุกเข้ามาในดินแดนของพวกเขา ดังนั้นเมื่อจักรวรรดินิยมอังกฤษเข้ามายึดครองอินเดียและพม่าเป็นอาณานิคม และส่งกำลังทหารเข้ามาเพื่อยึดครองดินแดนของพวกนากา จึงถูกต่อต้านอย่างหนักจากบรรดานักรบเผ่าต่างๆ"

            กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร จะเป็นการพิจารณากลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเทือกเขาในบริเวณตอนเหนือของประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม ในส่วนที่เชื่อมโยงกับตอนใต้ของประเทศจีน เนื่องจากชาวเขาเหล่านี้มีการอพยพโยกย้ายบ่อย จากเทือกเขาหนึ่งไปยังอีกเทือกเขาหนึ่ง การพูดถึงชาวเขาในเอเชียอาคเนย์ จึงจำเป็นต้องรวมภาคใต้ของประเทศจีนเช่นเดียวกับทางด้านตะวันตกด้วย การศึกษาถึงชาวเขาและคนพื้นราบของเอเชียอาคเนย์ต้องรวมอัสสัมในอินเดียด้วยเพราะมีกลุ่มที่พูดภาษาไท/ไตอยู่ นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวรในเอเชียอาคเนย์ยังรวมถึงกลุ่มคนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน กลุ่มแรกคือ กลุ่มชาวเขาบนแผ่นดินใหญ่ และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มชาวเขาบนเกาะ 
            กลุ่มชาติพันธุ์บนแผ่นดินใหญ่  การศึกษาเรื่องชาวเขา มีวิธีการแบ่งกลุ่มชาวเขาได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามภาษาพูดและแบ่งตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น  ซึ่งนากะ ก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่จัดได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนแผ่นดินใหญ่นี้ด้วย
            นากะ (Naga) กลุ่มชาติพันธุ์บนแผ่นดินใหญ่ในอินเดีย อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาในประเทศพม่าและรัฐอัสสัมในอินเดีย ซึ่งมีชาวเขาเผ่ากาโร (Garo) ชิน (Chin) และนากะ (Naga) ที่ตั้งแหล่งถิ่นฐานอยู่บริเวณนั้น  มีการพูดภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman)  มีเชื้อชาติมองโกลอยด์ พวกกาโรตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอัสสัมที่ระดับความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ประชากรมีอาชีพในการทำไร่ ทำสวนเลื่อนลอย เลี้ยงสัตว์ต่างๆ มีการ จับปลา และหาของในป่าเพื่อยังชีพ





‘นากา’ไม่ใช่ชื่อที่พวกเขาเรียกตัวเอง 


แต่เป็นชื่อที่คนอื่นๆ เรียก ทั้งอังกฤษ พม่า จีน แขกต่างเรียกคนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่แถบดินแดนเทือกเขานากา ดินแดนรอยต่อระหว่างจีน พม่าและอินเดีย


ในภาษาไทย บ้างเขียนทับศัพท์เป็น นาคา หรือ นาค ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นมนุษย์เผ่าที่บูชางูหรือบูชาพญานาคไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนนากาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงูเงี้ยวเขี้ยวตะขอเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นประวัติ ความเชื่อ หรือพิธีกรรม


ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หน้าที่ ๕๗๓ บอกว่า
นาค หรือ นาคา (นาก) น. ชื่อชนเผ่าหนึ่งอยู่บริเวณเทือกเขานาค ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศพม่า มีหลายสาขา เช่น อาโอนาค *กินาค.


บางตำราบอกว่า naga มาจาก คำว่า ‘โนค’ อันเป็นภาษาไทอาหมเดิม รากคำมาจากภาษาสันสกฤตว่า ‘นัค’ อันแปลว่า ภูเขา หรือ ดินแดนที่ไม่มีใครเข้าถึง หรือ ดินแดนที่ไม่มีใครเอาชนะได้


บางตำราก็ว่า naga ในภาษาฮินดีหมายถึงโป๊ เปลือย ซึ่งพ้องกับภาษาอังกฤษคำว่า naked ด้วย ตำรานั้นสรุปเสร็จสรรพว่าเป็นเพราะคนนากาแต่งกายด้วยชุดที่เกือบจะโป๊ สมัยก่อนทั้งชายและหญิงของบางเผ่าจะเปลือยท่อนบน และท่อนล่างก็ดูวาบๆ เย็นๆ โชว์ขายาวด้วยผ้านุ่งคล้ายเตี่ยวของไทยเรา


แต่ความหมายที่คนนากายอมรับได้และมีเหตุผลมากที่สุดคือ นากา มาจากภาษาพม่า


คำว่า นา หมายถึง หู
คำว่า กา หมายถึง เจาะรู หรือ ทำให้เป็นรู


คนพม่าเรียกคนเผ่าที่อาศัยบนภูเขานากาด้านตะวันตก อีกฟากฝั่งแม่น้ำชินวิน ว่า คนที่เจาะหูให้เป็นรู ด้วยการแต่งกายและเครื่องประดับประจำเผ่าแทบทุกเผ่ามักจะมีต่างหูใหญ่ที่ทำให้รูเจาะที่ติ่งหูกว้าง




วันที่ ๑-๕ ธันวาคมของทุกปี
ชาวนากาทุกเผ่าต่างมาร่วมร้องรำทำเพลง แต่งกายตามเผ่าตนในงาน Hornbill Festival

            ในเขตประเทศอินเดีย (รัฐอัสสัม) บังกลาเทศ และพม่า พวกชิน กาโร และนากะ มีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูจากที่ราบลุ่มเมืองมณีปุระในรัฐอัสสัม ชินที่อาศัยอยู่บนเขาติดต่อค้าขายกับเมืองมณีปุระ แต่ชินที่อาศัยอยู่บนพื้นราบค้าขายกับพม่า ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายหินยานจากพม่า แต่พวกชินมีระบบการมืองการปกครองที่ซับซ้อนกว่าพวกกาโรคล้ายกับคะฉิ่น


น.ส.ณฐพร บัวศรีทอง ม.5/8 เลขที่ 11
น.ส.บุญพิทักษ์ รุ่งกาญจนกุล ม.5/8 เลขที่ 17

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

มองโกลอยด์(Mongoloid)

มองโกลอยด์ (อังกฤษ: Mongoloid) เป็น เผ่าพันธุ์ของคนผิวเหลืองผสมดำเล็กน้อย ส่วนใหญ่อาศัยในเอเชียตะวันออก คำว่า มองโกลอยด์ มาจากคำว่า มองโกล มีความหมายว่าเหมือนชาวมองโกล
อันที่จริงแล้ว มองโกลอยด์ ถูกตั้งโดยฝรั่งหรือชนผิวขาว คอเคซอยด์ โดยการมาเยือนให้ฝรั่งเห็นครั้งแรก ที่ตอนจักรวรรดิมองโกลขยายมายังดินแดนยุโรป ในเวลาก่อนหน้านั้น ฝรั่ง แบ่งกลุ่ม คนเป็น 2 กลุ่มเท่านั้น คือ ชนชาติผิวขาว กับ ชนชาติผิวดำ เมื่อฝรั่งเห็นชนชาติมองโกลรุกรานยังดินแดนต่างๆของตน จึงตั้งชื่อพวกนี้ว่า มองโกลอยด์ ตามชื่อจักรวรรดิ เนื่องจากเป็นชาติเดียวที่รุกมายังดินแดนชนผิวขาวได้


  น.ส.กิตติมา  จำปาทอง  ม.5/8 เลขที่ 4

ชาวเขาเผ่า กาโร่



บริเวณเทือกเขาในประเทศพม่าและรัฐอัสสัมในอินเดีย มีชาวเขาเผ่ากาโร (Garo) ชิน (Chin) และนากะ (Naga) ซึ่งพูดภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman)  มีเชื้อชาติมองโกลอยด์ พวกกาโรตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอัสสัมที่ระดับความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย เลี้ยงสัตว์ จับปลา และหาของป่าเพื่อยังชีพ
           ในประเทศพม่ามีชาวเขา ๓-๔ กลุ่ม ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานค่อนข้างถาวรอยู่บนเขา และสามารถผนึกกำลังและรวมตัวกันได้ ถึงขนาดที่รัฐบาลพม่าต้องเกรงกลัวเป็นอย่างมาก กลุ่มที่อยู่ทางด้านตะวันตกมากที่สุดคือพวกชิน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเขตแดนพม่าและอัสสัม และในเขตประเทศอินเดีย (รัฐอัสสัม) บังกลาเทศ และพม่า พวกชิน กาโร และนากะ มีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูจากที่ราบลุ่มเมืองมณีปุระในรัฐอัสสัม ชินที่อาศัยอยู่บนเขาติดต่อค้าขายกับเมืองมณีปุระ แต่ชินที่อาศัยอยู่บนพื้นราบค้าขายกับพม่า ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายหินยานจากพม่า แต่พวกชินมีระบบการมืองการปกครองที่ซับซ้อนกว่าพวกกาโรคล้ายกับคะฉิ่น

นาย พชรพล ผิวเณร ม.5/8 เลขที่46

ชาวเผ่าชิน ในอินเดีย


หากพูดถึงการสักในยุคปัจจุบันแล้วล่ะก็ มักจะเป็นไปเพื่อแฟชั่น หรือความสวยงาม แต่ย้อนไปไม่ถึงร้อยปี ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในประเทศพม่า การสักของหญิงสาวชาวเผ่า "ชิน" ไม่ได้เป็นไปเพื่อความงามอย่างที่นิยมกันในปัจจุบัน แต่การสักของพวกเธอเป็นไปเพื่อการบดบังความงามบนใบหน้าต่างหากเล่า

ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอินเดีย เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพื้นถิ่นชนเผ่า "ชิน" ชนเผ่าซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่วัฒนธรรมเก่าแก่ และกลายเป็นจุดขายอย่างหนึ่งแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางล่องตามแม่น้ำเพื่อมาเยี่ยมชมความงามที่มีลมหายใจของที่นี่ ซึ่งก็คือบรรดาหญิงชราแห่งชนเผ่าชินนั่งเอง อย่าเพิ่งสงสัยว่าในความชราวัยนั้น ยังมีความงามใดให้เราชื่นชม เพราะเมื่อสมัยก่อนนั้น หญิงสาวเผ่าชิน ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าเป็นสาวผู้มีความงาม งามแตะตาหนุ่มต่างเผ่า และงามมากเสียจนกษัตริย์พม่ามีคำสั่งให้จับตัวสาวงามทั้งหลายไปเป็นภรรยา หรือทาสสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวชินจึงคิดหาทางปกป้องลูกหลานสาว ๆ ของตนเอง ด้วยการให้เด็กสาวอายุระหว่าง 11-15 ปี มาสักเพื่ออำพรางความงามบนใบหน้า กลายเป็นใบหน้าที่มีรอยสักลายพร้อย และอยู่ติดบนใบหน้าไปเยี่ยงนั้น จนเด็กสาวในวันนั้น กลายเป็นหญิงชราเช่นที่เราพบในตอนนี้

และแม้จะเป็นการสักเพื่ออำพรางความงามบนใบหน้า แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวชินก็บอกว่า สมัยก่อนหนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านจะไม่ยอมแต่งงานกับหญิงสาวใดที่ไม่มีรอยสักบนใบหน้าเด็ดขาด เพราะพวกเขาเปรียบรอยสักเหล่านั้น ว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความงามที่หญิงสาวมี งามมากเสียจนต้องอำพรางเอาไว้นั่นเอง








ลวดลายการสักบนใบหน้าของชนเผ่าชินนั้น ประกอบด้วยเส้นสายลายขนาดที่ลากผ่านทุกบริเวณบนผิวหน้า ไม่ว่าจะเป็นหน้าผาก แก้ม จมูก คาง เปลือกตา บริเวณเดียวที่เว้นว่างไว้เห็นจะมีแต่เพียงริมฝีปากเท่านั้น นอกจากนี้ภายในเผ่าชินเองก็ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีกมากมาย โดยแต่ละกลุ่มย่อยก็จะมีลวดลายการสักใบหน้าที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้เราสามารถระบุได้ทันทีว่าเป็นหญิงจากเผ่าชินกลุ่มไหน โดยการสังเกตจากลายสักบนใบหน้านั่นเอง

แต่ปัจจุบันนี้ การจะหาดูหญิงเผ่าชินที่มีรอยสักบนใบหน้า เห็นจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักเสียแล้ว เด็กสาวเผ่าชินรุ่นใหม่ ๆ ไม่มีใครอยากสักใบหน้ากันอีกต่อไป เพราะการสักนั้นมีแต่ความเจ็บปวด กว่าจะสักครบทั่วทั้งใบหน้า อาจกินเวลาถึง 2 วัน หลังจากนั้นผู้ถูกสักก็ต้องนอนระบมไปอีกหลายวัน ไม่สามารถขยับใบหน้าหรือแม้แต่กะพริบตาได้ เพราะผิวหนังนั้นบวมจนตึงไปหมดนั่นเอง รวมทั้งตอนนี้ก็ไม่มีกษัตริย์องค์ไหนจะมาจับตัวพวกเธออีกต่อไป ทั้งรัฐบาลทหารพม่ายังเคยออกกฎห้ามไม่ให้ชนเผ่าต่าง ๆ ทำการสักใบหน้า เพราะเห็นเป็นวัฒนธรรมที่ดูป่าเถื่อนอีกด้วย

เวลายิ่งก้าวเดินไปข้างหน้า ความงามในสายตาคนท้องถิ่นคงยิ่งถดถอยและล้มหายตายจากไปตามวันเวลา แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมใดที่ไม่ได้รับการสานต่อ ก็ย่อมเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่อย่างน้อยตอนนี้ความงามที่ยังมีลมหายใจทั้งหลาย ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ประเทศอินเดียนี้เอง...

น.ส. กิติยา ลี้จินดา ม.5/8 เลขที่ 5

ชาติพันธุ์


ความหมายของชาติพันธุ์


คำว่า "ชาติพันธุ์" และ "ชาติพันธุ์วิทยา" เป็นคำใหม่ในภาษาไทยการทำความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์จำเป็นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องเชื้อชาติและสัญชาติ อาจเปรียบเทียบ เชื้อชาติ สัญชาติ และชาติพันธุ์ได้ดังนี้
- เชื้อชาติ
- สัญชาติ
- ชาติพันธุ์

เชื้อชาติ

เชื้อชาติ (race) คือ ลักษณะทางชีวภาพของคน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว เส้นผม และตา การแบ่งกลุ่ม เชื้อชาติ (racial group) มักแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ นิกรอยด์ (Negroid) มองโกลอยด์ (Mongoloid) และคอเคซอยด์ (Caucasoid) ในตอนหลังได้เพิ่มออสตราลอยด์ (Australoid) โพลินีเชียน (Polynesian) ฯลฯ อีกด้วย
การแบ่งแยกกลุ่มคนตามลักษณะทางชีวภาพนี้ มีความสำคัญในสังคมที่สมาชิกในสังคมมาจากบรรพบุรุษที่ต่างกัน และมีสีผิวและรูปพรรณสัณฐานที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความแตกต่างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ในสังคมที่มีกลุ่มคนที่มีลักษณะทางชีวภาพต่างกันและประวัติความเป็นมาตลอดจนบทบาทในสังคมต่างกัน ความแตกต่างทางชีวภาพอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ แต่ในบางสังคม เช่น สังคมไทย ความแตกต่างทางชีวภาพไม่มีความหมายเท่าใดนัก

สัญชาติ

สัญชาติ (nationality) คือ การเป็นสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย โดยที่ลักษณะทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาจแตกต่างกันได้ การเป็นสมาชิกของประเทศย่อมหมายถึงการเป็นประชาชนของประเทศนั้น ผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาตั้งถิ่นฐานสามารถโอนสัญชาติมาได้ ผู้ที่เปลี่ยนสัญชาติ คือ ผู้ที่เปลี่ยนฐานะจากการเป็นประชาชนของประเทศหนึ่งมาเป็นประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง

ชาติพันธุ์ (ethnicity หรือ ethnos) คือการมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีน ลาว เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรม มีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน บรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือด ซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณ (เชื้อชาติ) เหมือนกัน รวมทั้งบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด และทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กันไปเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลและของชาติพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาเดียวกัน ความรู้สึกผูกพันนี้อาจเรียกว่า "สำนึก" ทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์ (ethnic identity)

-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาให้ความหมายชาติพันธุ์ (ethnos) ว่าหมายถึง "กลุ่มที่มีพันธะเกี่ยวข้องกัน และที่แสดงเอกลักษณ์ออกมา โดยการผูกพันลักษณาการของเชื้อชาติและสัญชาติเข้าด้วยกัน... ถ้าจะใช้ให้ถูกต้องจะมีความหมายเฉพาะใช้กับกลุ่มที่มีพันธะทางเชื้อชาติและทางวัฒนธรรม ประสานกันเข้าจนสมาชิกของกลุ่มเองไม่รู้สึกถึงพันธะของทั้งสองนี้ และคนภายนอกที่ไม่มีความเชี่ยวชาญจะไม่แลเห็นถึงความแตกต่างกัน" และพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาให้ความหมาย ชาติพันธุ์วิทยา (ethnology) ว่าหมายถึง "การพินิจศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมปัจจุบัน หรือวัฒนธรรมเดิมที่สูญหายไปของกลุ่มมนุษยชาติทั้งหลายในโลกชาติพันธุ์วิทยาอาจหมายถึงมานุษยวิทยาวัฒน-ธรรมก็ได้"
การมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์คือกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันนั้น อธิบายได้ว่า ในระยะแรกมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีลักษณะคล้ายครอบครัวขนาดใหญ่ เมื่อคนกลุ่มเล็กอาศัยอยู่ด้วยกัน ก็สามารถเข้าใจกันและประพฤติปฏิบัติต่อกันได้ โดยไม่มีความขัดแย้งเท่าใดนัก เมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้น มีคนหลายครอบครัวอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน การดำเนินวิถีชีวิตอาจแตกต่างกันบ้าง ความคิดอาจไม่สอดคล้องกันและปัญหาเรื่องความขัดแย้งก็คงจะตามมา ฉะนั้นเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จำเป็นต้องมีระบบระเบียบมากขึ้นต้องมีการตกลงกันว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ข้อตกลงเกี่ยวกับวิถีชีวิตการประพฤติปฏิบัติ และความคิดความเชื่อ จึงเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์และเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรม" กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันเรียกว่าเป็นคนชาติพันธุ์เดียวกัน

วัฒนธรรม คือ ระบบสัญลักษณ์ซึ่งสมาชิกของสังคมตกลงกันว่าจะใช้ร่วมกัน ผู้ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันคือคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกันและสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน การสืบทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก ทำให้เกิดการสืบทอดชาติพันธุ์ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและสังคมจึงเป็นความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันยาก และเนื่องจากการสืบทอดทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์เป็นการสืบทอดทางชีวภาพหรือทางสายเลือดด้วยความแตกต่างระหว่างปัจจัยทางวัฒนธรรมและปัจจัยทางชีวภาพจึงแยกออกจากกันยาก และทำให้คนทั่วไปไม่คำนึงถึงข้อแตกต่างนี้ นอกจากนี้ เนื่องจากกลุ่มทางชีวภาพหรือกลุ่มเชื้อชาติครอบคลุมหลายกลุ่มชาติพันธุ์ความไม่ชัดเจนจึงอาจเกิดขึ้นได้
บางครั้งคนไทยใช้คำว่า เชื้อชาติ ในภาษาพูดทั่วๆ ไปในความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ว่า คือกลุ่มคนที่มีจุดกำเนิดของบรรพบุรุษร่วมกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเดียวกัน และพูดภาษาเดียวกัน ตลอดจนมีความรู้สึกในเผ่าพันธุ์เดียวกัน ตัวอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ คือกลุ่มคนจีนกลุ่มคนไทย กลุ่มคนพม่า กลุ่มคนลาว กลุ่มคนเขมร กลุ่มคนกะเหรี่ยงกลุ่มคนอินเดีย กลุ่มคนม้ง ปัจจัยสำคัญในการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์คือ ความสำนึกของคนในกลุ่มนั้นว่ามีชาติพันธุ์ใด ปัจจัยทางด้านภาษาอย่างเดียวไม่สามารถกำหนดชาติพันธุ์ได้ ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดที่สำคัญกว่า ทั้งนี้เพราะคนจีน หรือคนอินเดีย หรือคนกะเหรี่ยง มีจิตสำนึกในความเป็นคนจีน หรือความเป็นคนอินเดีย หรือความเป็นคนกะเหรี่ยง โดยคนทั้ง ๓ กลุ่มนี้ต่างรวมกันโดยเชื้อชาติ สัญชาติ และชาติพันธุ์ แล้วก็มีภาษาพูดหลายภาษา คนจีนที่พูดภาษาไหหลำ กวางตุ้งและฮกเกี้ยน ต่างก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนจีน คนอินเดียที่พูดภาษาฮินดีเบงกาลี และทมิฬ ต่างก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนอินเดีย และคนกะเหรี่ยงไม่ว่าจะเป็นเผ่าโปว์หรือเผ่าสะกอ ต่างก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนกะเหรี่ยง ฉะนั้น การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์จึงขึ้นอยู่กับความสำนึกของตัวเองว่าเป็นคนกลุ่มใด
นอกจากนี้ คนบางคนยังไม่อาจจะยึดในกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ตลอดไป เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งก็มีความสำนึกอย่างหนึ่ง เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปก็มีความสำนึกอีกอย่างหนึ่งเช่น คนจีนที่เกิดในประเทศไทย และเรียนที่โรงเรียนคนไทย เมื่ออยู่ในหมู่เพื่อนที่โรงเรียนก็มักจะมองว่าตัวเองเป็นคนไทย แต่เมื่อกลับบ้านไปอยู่ในหมู่ญาติพี่น้องซึ่งพูดภาษาจีน ก็จะมองว่าตัวเองเป็นคนจีน ชาวเขาเผ่าต่างๆ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เขาอาจจะมองว่าตัวเองเป็นชาวเขา หรือ "คนเมือง" (คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่พื้นราบในภาคเหนือ) หรือคนไทยก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม คนเชื้อสายกุยในประเทศไทยอาจจะเป็นคนกุย คนอีสาน หรือคนไทยก็ได้เช่นเดียวกัน
การที่คนๆ เดียวมีความรู้สึกว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูก แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความสำนึกในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้และไม่ถาวร เมื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความสำนึกในกลุ่มชาติพันธุ์อย่างชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง คนกลุ่มนั้นก็มักจะเป็นคนที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เชื้อชาติชาติพันธุ์ และสัญชาติ สอดคล้องกัน