วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ชาวเผ่าชิน ในอินเดีย
หากพูดถึงการสักในยุคปัจจุบันแล้วล่ะก็ มักจะเป็นไปเพื่อแฟชั่น หรือความสวยงาม แต่ย้อนไปไม่ถึงร้อยปี ในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในประเทศพม่า การสักของหญิงสาวชาวเผ่า "ชิน" ไม่ได้เป็นไปเพื่อความงามอย่างที่นิยมกันในปัจจุบัน แต่การสักของพวกเธอเป็นไปเพื่อการบดบังความงามบนใบหน้าต่างหากเล่า
ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอินเดีย เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวพื้นถิ่นชนเผ่า "ชิน" ชนเผ่าซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่วัฒนธรรมเก่าแก่ และกลายเป็นจุดขายอย่างหนึ่งแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางล่องตามแม่น้ำเพื่อมาเยี่ยมชมความงามที่มีลมหายใจของที่นี่ ซึ่งก็คือบรรดาหญิงชราแห่งชนเผ่าชินนั่งเอง อย่าเพิ่งสงสัยว่าในความชราวัยนั้น ยังมีความงามใดให้เราชื่นชม เพราะเมื่อสมัยก่อนนั้น หญิงสาวเผ่าชิน ขึ้นชื่อลือเลื่องว่าเป็นสาวผู้มีความงาม งามแตะตาหนุ่มต่างเผ่า และงามมากเสียจนกษัตริย์พม่ามีคำสั่งให้จับตัวสาวงามทั้งหลายไปเป็นภรรยา หรือทาสสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวชินจึงคิดหาทางปกป้องลูกหลานสาว ๆ ของตนเอง ด้วยการให้เด็กสาวอายุระหว่าง 11-15 ปี มาสักเพื่ออำพรางความงามบนใบหน้า กลายเป็นใบหน้าที่มีรอยสักลายพร้อย และอยู่ติดบนใบหน้าไปเยี่ยงนั้น จนเด็กสาวในวันนั้น กลายเป็นหญิงชราเช่นที่เราพบในตอนนี้
และแม้จะเป็นการสักเพื่ออำพรางความงามบนใบหน้า แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวชินก็บอกว่า สมัยก่อนหนุ่ม ๆ ในหมู่บ้านจะไม่ยอมแต่งงานกับหญิงสาวใดที่ไม่มีรอยสักบนใบหน้าเด็ดขาด เพราะพวกเขาเปรียบรอยสักเหล่านั้น ว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความงามที่หญิงสาวมี งามมากเสียจนต้องอำพรางเอาไว้นั่นเอง
ลวดลายการสักบนใบหน้าของชนเผ่าชินนั้น ประกอบด้วยเส้นสายลายขนาดที่ลากผ่านทุกบริเวณบนผิวหน้า ไม่ว่าจะเป็นหน้าผาก แก้ม จมูก คาง เปลือกตา บริเวณเดียวที่เว้นว่างไว้เห็นจะมีแต่เพียงริมฝีปากเท่านั้น นอกจากนี้ภายในเผ่าชินเองก็ยังแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีกมากมาย โดยแต่ละกลุ่มย่อยก็จะมีลวดลายการสักใบหน้าที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้เราสามารถระบุได้ทันทีว่าเป็นหญิงจากเผ่าชินกลุ่มไหน โดยการสังเกตจากลายสักบนใบหน้านั่นเอง
แต่ปัจจุบันนี้ การจะหาดูหญิงเผ่าชินที่มีรอยสักบนใบหน้า เห็นจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักเสียแล้ว เด็กสาวเผ่าชินรุ่นใหม่ ๆ ไม่มีใครอยากสักใบหน้ากันอีกต่อไป เพราะการสักนั้นมีแต่ความเจ็บปวด กว่าจะสักครบทั่วทั้งใบหน้า อาจกินเวลาถึง 2 วัน หลังจากนั้นผู้ถูกสักก็ต้องนอนระบมไปอีกหลายวัน ไม่สามารถขยับใบหน้าหรือแม้แต่กะพริบตาได้ เพราะผิวหนังนั้นบวมจนตึงไปหมดนั่นเอง รวมทั้งตอนนี้ก็ไม่มีกษัตริย์องค์ไหนจะมาจับตัวพวกเธออีกต่อไป ทั้งรัฐบาลทหารพม่ายังเคยออกกฎห้ามไม่ให้ชนเผ่าต่าง ๆ ทำการสักใบหน้า เพราะเห็นเป็นวัฒนธรรมที่ดูป่าเถื่อนอีกด้วย
เวลายิ่งก้าวเดินไปข้างหน้า ความงามในสายตาคนท้องถิ่นคงยิ่งถดถอยและล้มหายตายจากไปตามวันเวลา แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมใดที่ไม่ได้รับการสานต่อ ก็ย่อมเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่อย่างน้อยตอนนี้ความงามที่ยังมีลมหายใจทั้งหลาย ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ประเทศอินเดียนี้เอง...
น.ส. กิติยา ลี้จินดา ม.5/8 เลขที่ 5
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น