วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชาติพันธุ์


ความหมายของชาติพันธุ์


คำว่า "ชาติพันธุ์" และ "ชาติพันธุ์วิทยา" เป็นคำใหม่ในภาษาไทยการทำความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์จำเป็นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับเรื่องเชื้อชาติและสัญชาติ อาจเปรียบเทียบ เชื้อชาติ สัญชาติ และชาติพันธุ์ได้ดังนี้
- เชื้อชาติ
- สัญชาติ
- ชาติพันธุ์

เชื้อชาติ

เชื้อชาติ (race) คือ ลักษณะทางชีวภาพของคน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะรูปพรรณ สีผิว เส้นผม และตา การแบ่งกลุ่ม เชื้อชาติ (racial group) มักแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ นิกรอยด์ (Negroid) มองโกลอยด์ (Mongoloid) และคอเคซอยด์ (Caucasoid) ในตอนหลังได้เพิ่มออสตราลอยด์ (Australoid) โพลินีเชียน (Polynesian) ฯลฯ อีกด้วย
การแบ่งแยกกลุ่มคนตามลักษณะทางชีวภาพนี้ มีความสำคัญในสังคมที่สมาชิกในสังคมมาจากบรรพบุรุษที่ต่างกัน และมีสีผิวและรูปพรรณสัณฐานที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ความแตกต่างระหว่างคนผิวขาวกับคนผิวดำ ในสังคมที่มีกลุ่มคนที่มีลักษณะทางชีวภาพต่างกันและประวัติความเป็นมาตลอดจนบทบาทในสังคมต่างกัน ความแตกต่างทางชีวภาพอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ แต่ในบางสังคม เช่น สังคมไทย ความแตกต่างทางชีวภาพไม่มีความหมายเท่าใดนัก

สัญชาติ

สัญชาติ (nationality) คือ การเป็นสมาชิกของประเทศใดประเทศหนึ่งตามกฎหมาย โดยที่ลักษณะทางชีวภาพและวัฒนธรรมอาจแตกต่างกันได้ การเป็นสมาชิกของประเทศย่อมหมายถึงการเป็นประชาชนของประเทศนั้น ผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นเพื่อมาตั้งถิ่นฐานสามารถโอนสัญชาติมาได้ ผู้ที่เปลี่ยนสัญชาติ คือ ผู้ที่เปลี่ยนฐานะจากการเป็นประชาชนของประเทศหนึ่งมาเป็นประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง

ชาติพันธุ์ (ethnicity หรือ ethnos) คือการมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาพูดเดียวกัน และเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษกลุ่มเดียวกัน เช่น ไทย พม่า กะเหรี่ยง จีน ลาว เป็นต้น กลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มวัฒนธรรม มีลักษณะเด่นคือ เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน บรรพบุรุษในที่นี้หมายถึงบรรพบุรุษทางสายเลือด ซึ่งมีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณ (เชื้อชาติ) เหมือนกัน รวมทั้งบรรพบุรุษทางวัฒนธรรมด้วย ผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะมีความรู้สึกผูกพันทางสายเลือด และทางวัฒนธรรมพร้อมๆ กันไปเป็นความรู้สึกผูกพันที่ช่วยเสริมสร้างอัตลักษณ์ของบุคคลและของชาติพันธุ์ และในขณะเดียวกันก็สามารถเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์นับถือศาสนาเดียวกัน ความรู้สึกผูกพันนี้อาจเรียกว่า "สำนึก" ทางชาติพันธุ์ หรือชาติลักษณ์ (ethnic identity)

-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*

พจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาให้ความหมายชาติพันธุ์ (ethnos) ว่าหมายถึง "กลุ่มที่มีพันธะเกี่ยวข้องกัน และที่แสดงเอกลักษณ์ออกมา โดยการผูกพันลักษณาการของเชื้อชาติและสัญชาติเข้าด้วยกัน... ถ้าจะใช้ให้ถูกต้องจะมีความหมายเฉพาะใช้กับกลุ่มที่มีพันธะทางเชื้อชาติและทางวัฒนธรรม ประสานกันเข้าจนสมาชิกของกลุ่มเองไม่รู้สึกถึงพันธะของทั้งสองนี้ และคนภายนอกที่ไม่มีความเชี่ยวชาญจะไม่แลเห็นถึงความแตกต่างกัน" และพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาให้ความหมาย ชาติพันธุ์วิทยา (ethnology) ว่าหมายถึง "การพินิจศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมปัจจุบัน หรือวัฒนธรรมเดิมที่สูญหายไปของกลุ่มมนุษยชาติทั้งหลายในโลกชาติพันธุ์วิทยาอาจหมายถึงมานุษยวิทยาวัฒน-ธรรมก็ได้"
การมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์คือกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันนั้น อธิบายได้ว่า ในระยะแรกมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มีลักษณะคล้ายครอบครัวขนาดใหญ่ เมื่อคนกลุ่มเล็กอาศัยอยู่ด้วยกัน ก็สามารถเข้าใจกันและประพฤติปฏิบัติต่อกันได้ โดยไม่มีความขัดแย้งเท่าใดนัก เมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้น มีคนหลายครอบครัวอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน การดำเนินวิถีชีวิตอาจแตกต่างกันบ้าง ความคิดอาจไม่สอดคล้องกันและปัญหาเรื่องความขัดแย้งก็คงจะตามมา ฉะนั้นเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จำเป็นต้องมีระบบระเบียบมากขึ้นต้องมีการตกลงกันว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ข้อตกลงเกี่ยวกับวิถีชีวิตการประพฤติปฏิบัติ และความคิดความเชื่อ จึงเกิดขึ้นในสังคมมนุษย์และเรียกรวมๆ ว่า "วัฒนธรรม" กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกันเรียกว่าเป็นคนชาติพันธุ์เดียวกัน

วัฒนธรรม คือ ระบบสัญลักษณ์ซึ่งสมาชิกของสังคมตกลงกันว่าจะใช้ร่วมกัน ผู้ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันคือคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกันและสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน การสืบทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่พ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก ทำให้เกิดการสืบทอดชาติพันธุ์ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและสังคมจึงเป็นความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันยาก และเนื่องจากการสืบทอดทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์เป็นการสืบทอดทางชีวภาพหรือทางสายเลือดด้วยความแตกต่างระหว่างปัจจัยทางวัฒนธรรมและปัจจัยทางชีวภาพจึงแยกออกจากกันยาก และทำให้คนทั่วไปไม่คำนึงถึงข้อแตกต่างนี้ นอกจากนี้ เนื่องจากกลุ่มทางชีวภาพหรือกลุ่มเชื้อชาติครอบคลุมหลายกลุ่มชาติพันธุ์ความไม่ชัดเจนจึงอาจเกิดขึ้นได้
บางครั้งคนไทยใช้คำว่า เชื้อชาติ ในภาษาพูดทั่วๆ ไปในความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ว่า คือกลุ่มคนที่มีจุดกำเนิดของบรรพบุรุษร่วมกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเดียวกัน และพูดภาษาเดียวกัน ตลอดจนมีความรู้สึกในเผ่าพันธุ์เดียวกัน ตัวอย่างของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ คือกลุ่มคนจีนกลุ่มคนไทย กลุ่มคนพม่า กลุ่มคนลาว กลุ่มคนเขมร กลุ่มคนกะเหรี่ยงกลุ่มคนอินเดีย กลุ่มคนม้ง ปัจจัยสำคัญในการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์คือ ความสำนึกของคนในกลุ่มนั้นว่ามีชาติพันธุ์ใด ปัจจัยทางด้านภาษาอย่างเดียวไม่สามารถกำหนดชาติพันธุ์ได้ ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดที่สำคัญกว่า ทั้งนี้เพราะคนจีน หรือคนอินเดีย หรือคนกะเหรี่ยง มีจิตสำนึกในความเป็นคนจีน หรือความเป็นคนอินเดีย หรือความเป็นคนกะเหรี่ยง โดยคนทั้ง ๓ กลุ่มนี้ต่างรวมกันโดยเชื้อชาติ สัญชาติ และชาติพันธุ์ แล้วก็มีภาษาพูดหลายภาษา คนจีนที่พูดภาษาไหหลำ กวางตุ้งและฮกเกี้ยน ต่างก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนจีน คนอินเดียที่พูดภาษาฮินดีเบงกาลี และทมิฬ ต่างก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนอินเดีย และคนกะเหรี่ยงไม่ว่าจะเป็นเผ่าโปว์หรือเผ่าสะกอ ต่างก็เรียกตัวเองว่าเป็นคนกะเหรี่ยง ฉะนั้น การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์จึงขึ้นอยู่กับความสำนึกของตัวเองว่าเป็นคนกลุ่มใด
นอกจากนี้ คนบางคนยังไม่อาจจะยึดในกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ตลอดไป เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่งก็มีความสำนึกอย่างหนึ่ง เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปก็มีความสำนึกอีกอย่างหนึ่งเช่น คนจีนที่เกิดในประเทศไทย และเรียนที่โรงเรียนคนไทย เมื่ออยู่ในหมู่เพื่อนที่โรงเรียนก็มักจะมองว่าตัวเองเป็นคนไทย แต่เมื่อกลับบ้านไปอยู่ในหมู่ญาติพี่น้องซึ่งพูดภาษาจีน ก็จะมองว่าตัวเองเป็นคนจีน ชาวเขาเผ่าต่างๆ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เขาอาจจะมองว่าตัวเองเป็นชาวเขา หรือ "คนเมือง" (คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่พื้นราบในภาคเหนือ) หรือคนไทยก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม คนเชื้อสายกุยในประเทศไทยอาจจะเป็นคนกุย คนอีสาน หรือคนไทยก็ได้เช่นเดียวกัน
การที่คนๆ เดียวมีความรู้สึกว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด และไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูก แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ความสำนึกในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้และไม่ถาวร เมื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีความสำนึกในกลุ่มชาติพันธุ์อย่างชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง คนกลุ่มนั้นก็มักจะเป็นคนที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เชื้อชาติชาติพันธุ์ และสัญชาติ สอดคล้องกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น