เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยพีบีเอส , ครอบครัวข่าว 3
ญาติรับศพ ป้าจุ๊ จุรี กลับกรุงเทพฯ เพื่อบำเพ็ญกุศลตามประเพณี ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม บางขุนพรหม
หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 มกราคม ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ นักแสดงอาวุโส ได้จากไปด้วยโรคชรา ขณะอายุ 82 ปี ที่บ้านเลขที่ 156 หมู่ 16 บ้านแม่สลอง ต.ป่าซาง อ.แม่จัน จ.เชียงรายนั้น
วันนี้ (26 มกราคม) เวลา 07.30 น. ญาติได้เดินทางไปรับศพของป้าจุ๊ ที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยลำเลียงด้วยรถยนต์ไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง กลับมาทางเครื่องบินเพื่อนำศพ ป้าจุ๊ จุรี มาบำเพ็ญกุศล ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร สำหรับพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพจะมีขึ้นในเวลา 17.00 น. วันนี้ และตั้งสวดอภิธรรมจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 18.30 น. ส่วนพิธีฌาปณกิจศพนั้น ทางครอบครัวจะปรึกษากันก่อน และจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
[25 มกราคม] ป้าจุ๊ วัย 83 ปี เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร Volume, Magazinee.com
ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ วัย 83 ปี เสียชีวิตแล้วด้วยโรคชรา ในบ้านพักที่เชียงราย ตั้งศพที่วัดมกุฎกษัตริยาราม
วันนี้ (25 มกราคม) มีรายงานว่า ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ อายุ 82 ปี นักแสดง และนักพากย์ชื่อดังของวงการบันเทิงไทยได้เสียชีวิตลงแล้วด้วยโรคชรา ภายในบ้านพักที่จังหวัดเชียงราย โดยญาติเผยว่า ป้าจุ๊ ได้ร้องเพลงให้ลูกหลานฟังเป็นเพลงสุดท้ายก่อนจากไปอย่างสงบ ทั้งนี้ จะมีการตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม
สำหรับ จุรี โอศิริ หรือที่ทุกคนเรียกติดปากว่า ป้าจุ๊ นั้น เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 ชีวิตในวัยเด็กได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร และมีความสามารถในด้านการเต้นรำ รวมทั้งการขับร้องเพลงสากล กระทั่งเรียนจบชั้น ม.6 ป้าจุ๊ ก็ได้เข้าสู่วงการบันเทิง โดยเป็นนักร้องหน้าม่านสลับละครของคณะผกาวลี และคณะศิวารมย์ ก่อนจะได้แสดงเป็นนางเอกในละครเพลงเรื่องนเรศวรมหาราช และได้เป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์ทหารบก วงสุนทราภรณ์
ต่อมา ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ ได้รับบทเป็นนางเอกในภาพยนตร์เรื่องแรก "สุภาพบุรุษจากอเวจี" และมีโอกาสได้ทำงานเป็นนักพากย์เสียงภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรก และตั้งแต่นั้นมา ป้าจุ๊ ก็เดินหน้าเป็นนักพากย์อย่างเต็มตัว โดยตลอดชีวิตการเป็นนักพากย์ ป้าจุ๊ ทำหน้าที่พากย์เสียงดาราหญิงชื่อดังในภาพยนตร์มาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน ด้วยการแสดงอารมณ์ทุกข์ โศก สนุกสนานได้อย่างสมจริง ซึ่งผลงานพากย์เสียงของ ป้าจุ๊ ยังทำให้นักแสดงหลายคนได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง และสุพรรณหงส์ทองคำอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว ป้าจุ๊ ในฐานะนักแสดง และนักพากย์ก็ยังเคยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณมากมาย ทั้งรางวัลตุ๊กตาทอง 4 ครั้ง รางวัลสำเภาทอง 1 ครั้ง รางวัลโทรทัศน์ทองคำ 1 ครั้ง รางวัลวิก 07 2 ครั้ง และยังได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักพากย์และนักแสดง) ประจำปีพุทธศักราช 2541 แต่เกียรติประวัติในวิชาชีพที่ ป้าจุ๊ ภาคภูมิใจที่สุดก็คือ การที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพากย์ภาพยนตร์ถวายในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงเวลาต่อมา ป้าจุ๊ จะมีอายุมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยทิ้งงานในวงการบันเทิง โดยยังคงมีผลงานแสดงละครเวที ละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ รวมทั้งเป็นนักพากย์อยู่เรื่อย ๆ เรียกได้ว่า แม้แต่เด็ก ๆ รุ่นหลัง ๆ ก็ยังรู้จัก ป้าจุ๊ เป็นอย่างดี
ด้านชีวิตส่วนตัว ป้าจุ๊ สมรสกับ เสนอ โกมารชุน (พี่ชายของ เสน่ห์ โกมารชุน) มีบุตรชาย 1 คน คือ นพพล โกมารชุน ผู้จัดละครและนักแสดงชื่อดัง แต่หลังจาก เสนอ โกมารชุน เสียชีวิต ป้าจุ๊ ก็ได้ใช้ชีวิตคู่อยู่กับ ลุงปุ๊ย สมชาย สามิภักดิ์ อดีตนักแสดงอาวุโส เป็นเวลา 50 กว่าปี จนกระทั่งสมชาย สามิภักดิ์ ถึงแก่กรรมไปเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552 สร้างความเศร้าสะเทือนใจให้ ป้าจุ๊ เป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ตลอดชีวิตของป้าจุ๊ จุรี โอศิริ ได้ทำหน้าที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักแสดงรุ่นหลังตลอดมา เพราะเป็นนักแสดงที่มีความสามารถรอบตัว มีความเคร่งครัดในการใช้ภาษาไทย และเป็นแบบอย่างในเรื่องของการใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขมากว่า 50 ปี ดาราอาวุโสท่านนี้จึงเป็นที่เคารพรักและนับถือของนักแสดงทุกรุ่นทุกวัย
ผลงานของ ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ
ภาพยนตร์
บ้านสาวโสด (2513)
ยิ้มสวัสดี (2521)
ไข่ลูกเขย (2524)
สาวจอมกวน (2525)
คนกลางเมือง (2531)
รอยไถ (2532)
ครั้งนี้โลกก็ฉุดไม่อยู่ (2535)
ธรณีนี่นี้ใครครอง... คุณย่า (2541)
อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร (2543)
ก้านกล้วย (2549) .... พังนวล (พากย์เสียง)
ม.3 ปี 4 เรารักนาย (2552)
มิวสิควีดิโอ
ไชน่า เกิร์ล - วงทู (2534)
รักเดียวใจเดียว - ธนพล อินทฤทธิ์ (2543) (ร่วมกับ สมชาย สามิภักดิ์)
จดหมายถึงเธอ - Boyd-Nop (2553)
โฆษณา
ยาบำรุงโลหิต เฮโมวิต (2545) (ร่วมกับ สมชาย สามิภักดิ์)
รถไฟฟ้ามหานคร (2547) (ร่วมกับ สมชาย สามิภักดิ์)
รางวัล และเกียรติคุณ
รางวัลสำเภาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง โบตั๋น
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง นกน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2507
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้แสดงประกอบยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง วัยตกกระ เมื่อปี พ.ศ. 2522
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง ไร้เสน่หา เมื่อปี พ.ศ. 2522
รางวัลตุ๊กตาทอง ในฐานะผู้พากย์ยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง เทพธิดาโรงแรม เมื่อปี พ.ศ. 2525
รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ในฐานะดาราสมทบยอดเยี่ยม จากละครโทรทัศน์เรื่อง สายโลหิต ประจำปี 2529
รางวัลวิก 07 ทองคำ ในฐานะดาราผู้ชนะใจกรรมการ ประจำปี พ.ศ. 2533
รางวัลวิก 07 ในฐานะดาราผู้ชนะใจผู้ร่วมงาน ประจำปี พ.ศ. 2534
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักพากย์และนักแสดง) ประจำปีพุทธศักราช 2541
น.ส.กิติยา. ลี้จินดา. ม.5/8. เลขที่ 5
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น