วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

ประเพณีการบวชลูกแก้ว ณ เมืองม้า ประเทศพม่า

    การบวชเรียน นับเป็นประเพณีในพระพุทธศาสนา ที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งอดีต และดูเหมือนว่ากระแสโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ได้กลืนเอาประเพณีอันดีงามเหล่านี้ไป จนผู้คนหลงลืมกันไปว่า การบวชเรียนนั้นเป็นอย่างไร แต่ไม่น่าเชื่อว่าประเพณีการบวชเรียนนี้ จะยังคงเป็นสิ่งที่ ชาวเมืองม้า ประเทศพม่า ยึดถือ และปฏิบัติกันเรื่อยมา และถือเป็นประเพณีแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ที่ชาวเมืองต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอย
 
    ชาวเมืองม้าทุกคน ต่างให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โดยชาวเมืองจะน้อมนำหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ดังนั้นประเพณีต่างๆที่เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา ก็จะได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น และรักษาไว้ไม่ให้สูญหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเพณีบวชลูกแก้ว หากบ้านไหนมีลูกชายวัย 8ขวบขึ้นไป ก็จะส่งลูกไปบวชเรียนที่วัด และให้อยู่ฝึกตัว ศึกษาพระธรรมคำสอนไปจนโต
 
    แต่ก่อนที่เด็กชายเหล่านั้นจะได้บวช “ลูกแก้ว” (หรือนาค) จะต้องผ่านการฝึกฝนอบรมเป็นเวลานานเกือบ 4เดือน เพื่อขัดเกลา และเตรียมกาย-ใจ ให้พร้อมต่อการบวชครั้งนี้ ซึ่งการบวชจะมีขึ้นในช่วงหลังออกพรรษา โดยที่ลูกแก้วจะมาฝากตัวเป็นศิษย์และขอบวช
 
 
    ลูกแก้วจะได้รับการยกฐานะ ให้เป็นเสมือนเจ้าชายที่กำลังจะออกบวช เมื่อชาวบ้านทราบข่าวการบวช ก็จะพากันมาแสดงความยินดี และมาช่วยงานบวชกันอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่ชาวเมืองม้าเท่านั้น แต่ชาวเมืองอื่นๆในละแวกนั้นก็มาด้วย เพราะพวกเขาเห็นว่า การบวชเป็นสิ่งที่ได้บุญมาก และการที่ลูกหลานในเมืองได้บวชก็ถือเป็นสิริมงคลแก่เมืองอย่างยิ่ง ชาวบ้านจะชวนกันมาทำบุญกับลูกแก้ว ซึ่งที่นี่จะเรียกว่า “การทาน” ทั้งทานของ และทานเงิน และที่น่าแปลกก็คือ จะมีการขับเพลง ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการทำขวัญนาค โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการบวช และการเสด็จออกบวชของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะขับเพลงตั้งแต่สองทุ่มเรื่อยไปจนถึงรุ่งเช้าวันใหม่ โดยที่เนื้อหาของเพลงที่ขับนั้นไม่ซ้ำกันเลย
 
 
    หลังจากบวชแล้ว สามเณรลูกแก้วจะได้รับฉายาจากเจ้าอาวาสทันที สามเณรจะปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอนอย่างเคร่งครัด จะมีการสวดมนต์ สวดธรรม และนั่งสมาธิ เวลาเรียนธรรมะหลวงพ่อเจ้าอาวาสก็จะเป็นผู้สอนเอง โดยการสอนด้วยปากเปล่า แล้วให้สามเณรลูกแก้วท่องตาม ซึ่งสามเณรก็สามารถท่องจำธรรมะทั้งหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว และสามเณรแต่ละองค์ก็จะมีผ้าพาดบ่า (ซึ่งมีลักษณะคล้ายผ้าสังฆาฏิ แต่เป็นสีๆ) โดยมีความเชื่อว่า หากญาติพี่น้องคนใดตกนรก ผ้าผืนนี้จะไปมัด ไปเกี่ยว ช่วยเอาญาติพี่น้องกลับขึ้นมาจากนรกได้
 
 
    หลวงพ่ออุ่นหลวง ญาณสิริ เจ้าอาวาสวัดราชฐานหลวงเชียงทุ้ง ท่านได้กล่าวถึงการบวชสามเณรลูกแก้วว่า “การบวชสามเณรลูกแก้วนี้เป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว ซึ่งสามเณรจะบวชจนเป็นพระแต่เมื่อไฟฟ้าเข้าถึง และมีทีวี ก็ทำให้คนสอนยากขึ้น เด็กเห็นตัวอย่างจากในทีวีก็อยากเอาเป็นแบบอย่าง ทำให้สามเณรที่เคยบวชอยู่นานจนเป็นพระ ลาสิกขาออกไปมาก พระตามวัดก็เหลืออยู่น้อย อาตมาเป็นห่วง แต่ DMC นี้เป็นสื่อที่ดี แต่มีอยู่เฉพาะที่วัดอาตมาเท่านั้น อาตมาอยากให้ชาวบ้านได้ดู DMC ด้วย”
 
 
    ในวันที่ 22 เมษายน วันคุ้มครองโลก ปีนี้ ท่านก็ตั้งใจว่า จะเดินทางมาร่วมงานครั้งนี้ด้วย ท่านบอกว่า “อยากจะเห็นภาพการรวมสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้จริงๆ ถ้าได้เห็นจะดีใจมากๆ อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้บวชอยู่ในผ้าเหลือง” และท่านก็ได้ฝากของขวัญวันเกิดมาถวายแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วย นั่นก็คือ คัมภีร์ใบลานโบราณ เรื่องทศพิธราชธรรม
 
    นอกจากนี้ พระสังฆราชเมืองเชียงตุง ผู้ปกครองคณะสงฆ์ 3เมือง ได้แก่ เมืองม้า เมืองลา และเมืองเชียงตุง ท่านจะเดินทางมาร่วมงานด้วยตนเอง และจะนำคณะสงฆ์มาร่วมงานวันคุ้มครองโลกครั้งนี้ด้วย เพราะท่านอยากจะเห็นภาพของพุทธบุตรที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว และจะได้เป็นส่วนหนึ่งในภาพประวัติศาสตร์ครั้งนี้

น.ส.ณฐพร  บัวศรีทอง เลขที่ 11 ม.5/8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น